วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

สุนทรียศาสตร์ หรือ Aesthetics

สุนทรียศาสตร์ หรือ Aesthetics

Aesthetic สุนทรียภาพ กล่าวทางศิลปะหมายถึง ความรู้สึกโดยธรรมดาของคนเราทุกคนซึ่งรู้จักค่าของวัตถุที่งาม ความรู้สึกที่งามเป็นสุนทรียภาพนี้ ย่อมเป็นไปตามอุปนิสัย การอบรมและการสึกษาของแต่ละบุคคล ซึ่งเรียกรวมกันว่ารส (taste) เพราะฉะนั้น ความรู้สึกนี้จึงอาจมีแตกต่างกันได้มาก แม้ระหว่างบุคคลต่อบุคคล ซึ่งความรู้สึกเบื้องต้นของความงามที่เป็นสุนทรียภาพ ถ้าเจริญคลี่คลายขึ้นแล้วก็จะเปิดช่องให้ประสาทอินทรีย์รู้สึกชื่นชมยินดี คือรู้คุณค่าของวิจิตรศิลป์ (fine arts) ขึ้นได้ เพราะฉะนั้นความงามที่เป็นสุนทรียภาพจึงได้แก่อินทรีย์คสามรู้สึกของบุคคล ซึ่งอาจเจริญงอกงามได้ด้วยอาศัยการฝึกฝนในการอ่าน การฟัง และการพินิจดูสิ่งที่งดงามเจริญใจไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งธรรมชาติหรือเป็นศิลปะ ดังเช่น ผู้ใดได้มองหรือเห็นสิ่งที่น่าเกลียด ก็มีความรู้สึกไม่พอใจขึ้นเองโดยไม่รู้สึกตัว ทั้งนี้เป็นเพราะประสาทอินทรีย์ของผู้นั้นเกิดระคายเคืองขึ้นเองจากความไม่ประสานกันของสิ่งนั้นๆ ตรงกันข้ามถ้าเราได้ยินเสียงที่ไพเราะ หรือมองดูสิ่งที่งาม ความรู้สึกอิ่มเอิบใจก็จะเข้าครอบงำเป็นเจ้าเรือนในดวงใจของเราทันที
อันที่จริงบุคคลที่มีความรู้สึกเจริญคลี่คลายดีแล้วในเรื่องรู้รสรู้ค่าของศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นเพราะมีอุปนิสัยหรือการศึกษามาดีแล้ว เมื่อได้อ่านได้ฟังหรือได้มองดูสิ่งซึ่งมีการประจักษ์ทางศิลปะอย่างสูง คือ ศิลปกรรมที่เลิศแล้วก็สามารถจะเข้าใจได้อย่างซาบซึ้งถึงความรู้สึกสะเทือนใจทางสุนทรียภาพ (aesthetic emotion) เหตุฉะนั้นสุนทรียภาพในทางศิลปะจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะมีสัมพันธ์อยู่กับประสาทอินทรีย์ความรู้สึกของศิลปินและกับทั้งศิลปกรรมด้วย
ยกตัวอย่าง เมื่อเราสังเกตเห็นลักษณะ การวางท่าทาง (posture) ของรูปรูปหนึ่ง “หยาบคาย” ไม่ละมุนละม่อม แม้รูปนั้นจะมีวิธีทำและมีการแสดงออก (expression) ทางศิลปะอย่างสมบูรณ์ แต่เราจะรู้สึกรู้ค่าในศิลปกรรมนั้นเต็มที่ไม่ได้ เพราะเส้นนอกของรูปภาพนั้นไม่เป็นสุนทรียภาพ กล่าวคือ ไม่มีความประสานกัน
อีกตัวอย่างหนึ่ง รูปภาพหรือหนังสือที่ประพันธ์ขึ้น หรือการประจักษ์อย่างอื่นๆ ทางศิลปะที่ไม่สมควร ทำให้เกิดความรู้สึกสะเทือนใจ ก็คือวาดหรือพรรณนาถึงสิ่งที่หยาบคายไม่ละมุนละม่อม แม้วาดหรือพรรณนาได้ดีเท่ากับถอดเอาออกมาจากของจริง แต่โดยเหตุที่มีลักษณะในตัวของมันองต่ำเราก็อาจกล่าวได้ว่า ไม่เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้มีปัญญาเกิดสนใจ
ตรงกันข้าม พระพุทธรูปที่งาม หรือเทวรูปกรีก หรือศิลปกรรมอื่นๆที่เลิศ เมื่อดู อ่าน หรือฟังแล้วย่อมน้อมนำใจเราให้สู่ความคิดสูง ให้เรามีความรู้สึกสะเทือนใจในความงามขึ้นทันที เปรียบปรัดุจเป็นอำนาจของแม่เหล็กครอบงำอินทรีย์ความรู้สึกของเราทั้งหมด ทั้งนี้ก็เพราะ วัตถุที่เราดูหรืออ่าน หรือเสียงที่เราได้ยินอยู่นั้น เข้าไปสัมพันธ์อยู่กับความปรารถนาทางจิตใจของเรา ทำให้เราใฝ่แสวงหาแต่สิ่งที่มีคุณงามความดีอันสูง แท้จริงความรู้สึกสะเทือนใจที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา อันเนื่องมาแต่สุนทรียภาพที่มีอยู่ในสิ่งนั้น ไม่ใช่เป็นเพราะความงามหรือความประณีตบรรจง
ที่มีอยู่เท่านั้นโดยลำพัง เพราะศิลปกรรมที่เลิศ ซึ่งนอกจากมีองค์ประกอบและวิธีทำที่สมบูรณ์แล้ว ยังต้องมีการแสดงความคิดสูง อันได้แก่ความคิดที่ยกจิตใจของผู้พินิจ ผู้อ่าน ผู้ฟัง ผู้ดูงานศิลปกรรม

ความสำคัญของสุนทรียศาสตร์และศิลปะ
เนื้อหาของสุนทรียศาสตร์นั้นว่าด้วยความคิดรวบยอดเรื่องความงาม การที่จะนิยามว่าความงามคืออะไรนั้นก็ยังไม่เป็นที่ยุติและเรื่องนี้ก็นับว่าเป็นปัญหาสำคัญของสุนทรียศาสตร์อย่างหนึ่ง แต่ปัญหาที่ว่าความงามคืออะไรนั้น นักศิลป์ทั่วไปไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าไรนัก แต่เขาจะพยายามทุ่มเททุกอย่างเพื่อสร้างความงามขึ้นด้วยศิลปะของเขา ซึ่งความสนใจดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นสัญชาติญาณของศิลป์ แต่จุดมุ่งหมายของสุนทรียศาสตร์ก็คือความพยายามยกระดับของการสร้างสรรค์และความสนใจในศิลปะซึ่งเป็นไปตามสัญชาตญาณนั้นให้เป็นพฤติกรรมที่เต็มไปด้วยปัญญา ทั้งนี้ก็เพื่อให้เข้าใจถึงหลักการขั้นมูลฐานของพฤติกรรมเกี่ยวกับศิลปะ ดังนั้น สุนทรียศาสตร์จึงเริ่มเรื่องด้วยการพิจารณาจากความสนใจในศิลปะและการสร้างสรรค์ศิลปะ ซึ่งคำตอบของสุนทรียศาสตร์ก็ได้จากการพยายามค้นหาความหมายของความงามนั่นเอง ความหมายของความงามก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรับรู้ของมนุษย์
จากประเด็นนี้จะเห็นได้ว่าหน้าที่ของนักสุนทรียศาสตร์ก็คือการค้นหาความหมายของความงามนั่นเอง แต่ก็มิได้หมายความว่าหน้าที่ของนักสุนทรียศาสตร์จะจำกัดอยู่แค่การค้นหาความงามจากความหมายของศิลปะที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความงามของธรรมชาติด้วย
สำหรับคำว่า “สุนทรียศาสตร์” ความหมายที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้มีขอบเขตอิสระมากขึ้น ความหมายของคำนี้ในทางวิชาการก็คือ เป็นวิชาที่เกี่ยวกับการศึกษาศิลปะแขนงต่างๆ รวมถึงหลักการของศิลปะ กระบวนการสร้างสรรค์ศิลปะ ประสบการณ์ทางศิลปะ นอกจากนี้ขอบเขตของความหมายยังได้ครอบคลุมไปถึงศิลปะกับชีวิตและสังคมร่วมทั้งความงามและปรากฏการณ์ที่งดงามของธรรมชาติอีกด้วย

ความงามในธรรมชาติและความงามในศิลปะ
ความงามในธรรมชาติ เป็นความงามที่ปราศจากการปรุงแต่ง เป็นความงามที่มนุษย์สามารถสัมผัสได้ เข่นชมทิวทัศน์ทุ่งทานตะวัน หรือชมพระอาทิตย์อัศดงที่ภูผาเป็นต้น
ความงามในศิลปะ เกิดจากความรู้สึกภายในจิตใจ ที่อยากแสดงออกทางสุนทรียภาพจากประสบการณ์ต่างๆ และขึ้นอยู่กับการสัมผัสของแต่ละบุคคล

ทฤษฎีความงาม

ทฤษฎีความงาม เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมากในทางสุนทรียศาสตร์อีกอย่างหนึ่งก็คือ ตำแหน่งของความงาม หรือว่าความงามอยู่ที่ไหน ความงามนั้นไม่ว่าจะเป็นจิตวิสัยหรือวัตถุวิสัยก็ยังคงเป็นเรื่องที่ให้ความเห็นไม่ตรงกันอยู่นั่นเอง และทัศนะที่แตกต่างกันของนักสุนทรียศาสตร์เหล่านั้น ก็ก่อให้เกิดทฤษฎีทางความงามขึ้นหลาย ทฤษฎี ดังจะยกมาพอสังเขปดังนี้

1.ความงามเป็นคุณสมบัติของวัตถุ
ผู้ที่เชื่อในทฤษฎีนี้ เชื่อว่าวัตถุต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่มีความงามในตัวของวัตถุเอง เช่น สวยเพราะสีสัน ทรวดทรง พื้นผิว ไม่ว่าเราจะสนใจวัตถุนั้นหรือไม่ การที่เราเริ่มให้ความสนใจในวัตถุนั้น ก็เป็นเพราะความงามของวัตถุนั้นนั่นเอง
บุคคลที่ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับทฤษฎีนี้ท่านหนึ่งก็คือ อริสโตเติล (Aristotle. 384-322 B.C) ท่านได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับความงามที่เป็นวัตถุวิสัยนี้ว่า สุนทรีธาตุนั้นมีจริง โดยไม่ขึ้นกับความคิดของมนุษย์ สุนทรีธาตุ มีมาตรการตายตัวแน่นอนในตัวเอง ดังนั้น ความงามของวัตถุจึงเป็นความสมบูรณ์อันเกิดจากรูปร่าง รูปทรง สีสัน สัดส่วนที่ประกอบกันเข้าอย่างกลมกลืนมีความสมดุล จึงถือว่าความงามที่เป็นวัตถุวิสัยหรือสุนทรียธาตุนั้นเป็นความงามที่สมบูรณ์แบบ

2.ความงามคือความรู้สึกเพลิดเพลิน
แนวคิดตามทฤษฎีนี้กล่าวคือ การที่เรามองเห็นคุณค่าของความงามในสิ่งใดใดก็แล้ว จิตเป็นตัวกำหนดความงาม ซึ่งเพลโต นักปรัชญาชาวกรีก (Plato 472 -347 B.C) ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับเรื่องของความงามว่า ความงามที่แท้จริงนั้นอยู่ในโลกแห่งจินตนาการ (World of Idea) เขาเชื่อว่าความงามอยู่ที่จิตเป็นตัวกำหนด ส่วนความคิดนั้นอยู่ในห้วงแห่งจินตนาการที่อยู่นอกเหนือไปจากโลกนี้ กล่าวคือจิตต้องสร้างต้นแบบแห่งความงามขึ้น สิ่งใดที่มีลักษณะใกล้เคียงกับจินตนาการในต้นแบบมากเพียงใด ย่อมถือว่าเป็นความงามเพียงนั้น ความชอบความเพลิดเพลินในเป็นสิ่งแสดงถึงคุณค่าตามมา

3.ความงามเป็นสภาวสัมพัทธ์
นักคิดบางคนเชื่อว่าความงามไม่ใช่เป็นจิตวิสัยอย่างสิ้นเชิง และก็ไม่ใช่เป็นวัตถุวิสัยอย่างสิ้นเชิงเช่นกัน แต่เป็นภาวสัมพัทธ์ระหว่างวัตถุกับบุคคล ทัศนะนี้ก็นับว่ามีส่วนถูกต้องอยู่ที่การยอมรับว่าทั้งบุคคลและ วัตถุมีความสำคัญด้วยกันทั้งคู่ในการตีคุณค่าทางสุนทรียะ แต่เราก็ต้องยอมรับว่าความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งสองสิ่งดังกล่าวนั้น เป็นรากฐานรองรับคำว่าคุณค่าทางสุนทรียะ เพียงแต่ว่าตัวความสัมพันธ์เองนั้นไม่ใช่เป็นตัวความงามหรือตัวคุณค่าทางสุนทรียะ เพราะฉะนั้นการที่จะอธิบายว่าความงามคือสภาวสัมพันธ์ระหว่างบุคคลจึงเป็นคำอธิบายที่ไม่ถูกนัก

ไม่มีความคิดเห็น: