วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ประติมากรรมไทย

ประติมากรรมเป็นผลงานทางศิลปะที่มีรูปทรง 3 มิติ คือ มีความสูงความกว้างและความนูนหรือลึก เกิดขึ้นจากการปั้นหล่อ แกะ สลัก ฉลุ หรือดุนตั้งแต่โบราณมา บรรพบุรุษไทยได้สร้างผลงานทางประติมากรรมขึ้น เพื่อแสดงออกถึงจินตนาการ ความรู้สึกความเชื่อ และความต้องการที่จะเล่าเรื่องราวต่าง ๆ รวมทั้งการแสดงออกของความสามารถทางด้านศิลปะ อันเป็นสุนทรียภาพของตนด้วย

การสร้างประติมากรรมนี้ ผู้สร้างจะต้องคำนึงองค์ประกอบทางศิลปะหลายประการเพื่อช่วยให้ผลงานมีความงดงาม และสามารถสร้างความรู้ สึกต่างๆ ให้เกิดขึ้นแก่ผู้ชม เช่น การใช้เส้นที่คดโค้งหรืออ่อนช้อยความกลมกลึง ความมันวาว ความนูนและความเรียบ เกลี้ยงของ พื้นผิว สามารถกระตุ้นความรู้สึกละเอียดอ่อนของผู้ชม สื่อให้รู้ถึงความอิ่มเอิบและความสมบูรณ์พูนสุข แสงและเงาที่สะท้อนได้ฉากและมุมที่พอเหมาะช่วยสร้างบรรยากาศให้ได้ความรู้สึกที่ต้องการ

การสร้างและจัดงานประติมากรรมให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม เช่น เหมาะกับขนาดของสถานที่ ฐานที่ตั้งและวัสดุอื่น ๆ สามารถช่วยให้ ประติมากรรมนั้นดูเด่น เป็นสง่า น่าเคารพ และน่านับถือ นอกจากนั้น การเลือกใช้วัสดุและเทคนิคการประดับตกแต่งที่เหมาะสมก็จะช่วยให้เกิดความ วิจิตรงดงาม เพิ่มคุณค่างานประติมากรรมไทยขึ้นด้วย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการสร้างงานประติมากรรมแต่ละชิ้นต้องใช้ความสามารถของช่างทางด้านศิลปะอย่างมาก

ประติมากรรมรูปเคารพที่คนไทยสร้างขึ้นเพื่อเคารพบูชา มักทำเป็นรูปคน เช่น เทวรูป พระพุทธรูป หรือรูปสัญลักษณ์ เช่น ใบเสมา ธรรมจักร และกวางหมอบ และรอยพระพุทธบาท ประติมากรรมรูปคนถือเป็นประติมากรรมที่สำคัญที่สุด พระสะท้อนความเชื่อ และความผูกพันระหว่างสังคมไทยกับพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง มีมานานก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบัน

ประติมากรรมตกแต่ง เป็นประติมากรรมที่ใช้ตกแต่งศิลปสถานและศิลปวัตถุต่างๆ ให้เกิดคุณค่าทางความงามและวัฒนธรรมเพิ่มมากขึ้น ที่เราพบมากได้แก่ การแกะสลักลวดลายต่างๆ ลงบนสิ่งของเครื่องใช้ เช่น ตู้ โต๊ะ ตั่ง เตียง ถ้วย ชาม ฯลฯ และการประดับสถานที่ต่าง ๆ เช่น โบสถ์ วิหาร ปราสาทราชวัง ด้วยลายปูนปั้นและรูปปั้นต่างๆ

ประติมากรรมของไทย นอกจากจะสะท้อนแบบแผนทางวัฒนธรรมแล้ว ยังสะท้อนความเชื่อต่างๆ อีกด้วย เช่น รูปหล่อโลหะสัตว์หิมพานต่าง ๆ ในวัด นับ ว่าสะท้อนความเชื่อ ทางพุทธศาสนาในเรื่องไตรภูมิ

นอกจากนั้นประติมากรรมบางอย่าง มีวัตถุประสงค์ที่จะเล่าเรื่องหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้ผู้ชมได้ทราบด้วย เช่น ประติมากรรมแกะสลักแผ่นหินอ่อนเรื่องรามเกียรติ์ประดับพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประติมากรรมปูนปั้นเรื่องทศชาติประดับหน้าพระอุโบสถวัดไลย์ จังหวัดลพบุรี เป็นต้น

ประติมากรรมอีกประเภทหนึ่งเป็นประติมากรรมที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน เช่น การสลักดุนภาชนะเครื่อง ใช้ขนาดเล็กด้วยลวดลายต่างๆ การแกะสลักเครื่องดนตรี

การนำกระดาษมาสร้างเป็นหัวโขน การนำดินมาปั้นเป็นเครื่องเล่นต่าง ๆ เช่น ตุ๊กตา ตัวหมากรุก หรือนำวัสดุต่าง ๆ มาประดิษฐ์เป็นเครื่องตก แต่งชั่วคราว เช่น การสลัก ผักผลไม้การสลักหยวกกล้วย และการสลักเทียนพรรษา เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ประติมากรรมเป็นงานศิลปะที่มีคุณค่าและประโยชน์หลายด้านบรรพบุรุษของไทยได้ริเริ่มและวางแผนงานประติมากรรมของไทยมานานแล้ว เนื่องจากประติมากรรมของไทยได้ผ่านการหล่อหลอมและผสมผสานทางวัฒนธรรมมาอย่างชาญฉลาดไทยจึงยังคงสามารถรักษารูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยได้อย่างเด่นชัด

ในระยะหลังตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา ความเจริญของประเทศทางตะวันตกได้หลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยทำให้เกิดแนวคิดใหม่ในการสร้างสรรค์งานศิลปะ

งานศิลปะมิได้สร้างขึ้นเพียงเพื่อแสดงออกถึงความเชื่อทางศาสนาเท่านั้น แต่สามารถสร้างขึ้นเพื่อสาธารณประโยชน์ด้วยดังนั้น การสร้างอนุสาวรีย์ การทำรูปปั้นและเหรียญตราต่างๆ จึงได้เกิดขึ้น บุคคลสำคัญที่มีอิทธิพลต่อวงการศิลปกรรมไทยสมัยใหม่ ทุกสาขาคือ ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี ศิลปินผู้ปั้นรูปอนุสาวรีย์สำคัญๆ ของชาติจำนวนมาก เช่น พระบรมรูปรัชกาลที่ 1 พระบรมรูปรัชกาลที่ 6 เมื่อประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475

งานศิลปกรรมซึ่งแต่เดิมอยู่ในความดูแลของราชสำนัก ก็ได้เปลี่ยนไปอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร ซึ่งต่อมาได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2486 จัดให้มีการเรียนการสอนทางด้านศิลปกรรมสาขาต่างๆ ปัจจุบันงานประติมากรรมของไทยได้เข้าสู่ยุคของศิลปะร่วมสมัย ซึ่งศิลปินมีอิสระภาพทั้งทางด้านความคิด เนื้อหาสาระ เทคนิค และรูปแบบการแสดงออก สุดแท้แต่จินตนาการและความสามารถของศิลปินผู้สร้าง

1 ความคิดเห็น:

arts-108.blogspot.com กล่าวว่า...

ลองเข้าไปดูงานที่ www.arts-108.blogspot.com
นะครับ เผื่อได้แลกเปลี่ยนกัน